กด Like ให้กำลังใจบ้างนะครับ
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
[SMN-HD 720p][R+18]Original Sin พิษรักแรงปราถนา(หนังเรต R ของแองเจลิน่า โจลี่)[Soundtrack][No Sub]
เรื่องย่อ
คอร์เนลล์ วูลริช ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนนิยายอาชญากรรมระดับแนวหน้า จุดเด่นในงานของเขาคือ การสะท้อนวังวนแห่งโลกที่ต้องคำสาป โดยพฤติกรรมของตัวละครส่วนใหญ่บางครั้งปราศจากเหตุผลหรือแรงจูงใจอันชัดเจนอื่นใดนอกจากพลังกระตุ้นด้านมืดที่ลึกลับ
สำหรับวูลริช ความรุนแรง ฆาตกรรม และการหักหลังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในซอกหลืบของสังคมแห่งคอรัปชั่นอันฟอนเฟะเหมือนนิยายแนวฟิล์มนัวร์เรื่องอื่นๆ แต่อาจเป็นสถานที่ธรรมดาสามัญท่ามกลางสถานการณ์ซึ่งผู้อ่านไม่คาดคิดมาก่อนเลยก็ได้ อันตรายแท้จริงในหนังสือของเขามักเกิดขึ้นจากด้านมืดอันยากเกินควบคุมในใจมนุษย์มากกว่า
Waltz Into Darkness สะท้อนบุคลิกลักษณะข้างต้นได้อย่างชัดเจนผ่านบทบอนนี่ นางเอกของเรื่องซึ่งเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมเบี่ยงเบนสุดโต่ง ยากแก่การคาดเดาตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากจบเมื่อเธอวางแผนฆ่าสามีอย่างเลือดเย็นด้วยยาเบื่อหนูเพื่อหวังเงินประกันชีวิต แม้สุดท้ายแล้วหลุยส์จะล่วงรู้ความจริงก่อนตายแต่เขาก็ยังยอมให้อภัยเธอ การตัดสินใจดังกล่าวนี้เองทำให้บอนนี่เข้าใจถึงรักแท้อันยิ่งใหญ่ที่เขามีต่อเธอ และที่เธอมีต่อเขาเสมอมาเพียงแต่ไม่กล้าพอจะยอมรับมันจนกระทั่งทุกอย่างสายเกินแก้เสียแล้ว
“ฉันรักเธอ ฉันรักเธอ ได้ยินไหม? เธออยู่ที่ไหนแล้ว? นี่ไงเป็นสิ่งที่เธอต้องการเสมอมา เธอไม่ต้องการมันแล้วหรือ?” บอนนี่ร้องไห้คร่ำครวญขณะหลุยส์กำลังจะลาจากโลก ส่วนด้านนอกตำรวจก็พยายามบุกเข้ามาเพื่อนำตัวเธอไปรับโทษ
ในปี 1969 ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ได้นำนิยายดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ Mississippi Mermaid โดยทอนบุคลิกของบอนนี่ให้ดูแข็งกระด้างน้อยลง เป็นคนดีในเนื้อแท้มากขึ้น แม้จะยังคงความคลุมเครือเอาไว้เช่นเคย ความรักที่เธอมีให้สามีดูชัดเจน น่าเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคมส่งผลให้ฉากวางยาพิษนั้นเหลือเชื่อเกินกว่าจะรับได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นสูงสุดเห็นจะเป็นฉากจบซึ่งทรุฟโฟต์ปล่อยให้ตัวเอกทั้งสองเดินเคียงข้างกันไปท่ามกลางหิมะขาวโพลน มุ่งหน้าสู่ชายแดนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มันอาจจะไม่ใช่แฮปปี้เอ็นดิ้งสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยทรุฟโฟต์ก็เปิดโอกาสให้แก่ความเป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจประสบความสำเร็จในการสานต่อความรักซึ่งสำหรับวูลริชแล้วมันเข้มข้น บริสุทธิ์เกินกว่าจะอยู่รอดบนโลกใบนี้ได้
สามสิบสองปีต่อมา ผู้กำกับชาวอเมริกัน ไมเคิล คริสโตเฟอร์ ได้นำนิยายชิ้นนี้มาตีความใหม่อีกครั้งภายใต้ชื่อ Original Sin โดยเปลี่ยนแปลงเรื่องราวมากมายในหลายส่วนซึ่งส่งผลให้เสน่ห์ของหนังสือ/หนังฉบับเก่าลดความเข้มข้นลง แม้จุดมุ่งหมายหลักด้านเนื้อหาจะยังไม่แตกต่างจากเดิมไปมากนักก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงประการสำคัญได้แก่ แรงจูงใจที่แจ่มชัดขึ้นของบอนนี่ (แองเจลิน่า โจลี่) ในการวางยาหลุยส์ (แอนโตนีโอ แบนเดรัส) หนังอธิบายอย่างถี่ถ้วนในหลายฉากก่อนหน้าเมื่อชู้รักของเธอ บิลลี่ (โธมัส เจน) พยายามโน้มน้าวให้บอนนี่เห็นด้วยว่าหญิงโสเภณีเช่นเธอไม่มีวันใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมอื่นใดได้นอกจากโลกมืดแห่งการหักหลังและฆาตกรรม ขณะเดียวกันความพยายามที่จะดึงหลุยส์ลงมาคลุกเคล้าใน ‘โลกของเธอ’ ด้วยการร่วมมือกันโกงวงไพ่ยังจบลงพร้อมกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย สุดท้ายทางออกเดียวที่บอนนี่เหลือก็คือ หันหลังให้แก่ความรักของหลุยส์ ดำเนินแผนตามภารกิจให้เสร็จสิ้น แล้วกลับไปใช้ชีวิตในโลกมืดดังเดิม โดยตัวหนังเองยังได้พยายามนำผู้ชมเข้าไปสัมผัสโลกของเธอในหลายๆฉากที่ถูกแต่งเพิ่มขึ้นมา (เช่น เมื่อเธอล่อหลอกพันเอกหัวงู ตอนเธอไปหาบิลลี่ที่ซ่องก่อนจะกลับมาวางยาสามี หรือการที่เธอเตรียมรับบทลงโทษจากเหล่าผู้ชายซึ่งถูกโกงไพ่อย่างไม่สะทกสะท้าน) เพื่อให้เราเข้าใจสภาพแวดล้อมของชีวิตชนชั้นล่างที่เด็กกำพร้าอย่างบอนนี่เติบโตมามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ลดความลึกลับซับซ้อนในบุคลิกของเธอลงด้วย
ดังนั้นปมวิกฤติในใจของบอนนี่ซึ่งดึงเธอให้ตัดสินใจวางยาหลุยส์จึงไม่ใช่ความพ่ายแพ้ต่อด้านมืดอันยากจะควบคุมในลักษณะภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ หากแต่เป็นปมความแตกต่างทางชนชั้น และแรงกดดันทางสังคมในรูปแบบนิยายโรแมนซ์ระหว่างชายหญิงต่างฐานะเสียมากกว่า ก่อนจะนำไปสู่ฉากจบทำนองแฮปปี้เอ็นดิ้งเมื่อบอนนี่กับหลุยส์สามารถเอาชีวิตรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจพร้อมกับต่างยอมลงเอยในทางสายกลางด้วยการร่วมมือกันโกงไพ่พวกเศรษฐีทั้งหลาย
ถึงแม้เสียงเล่าเรื่องของบอนนี่จะตอกย้ำคนดูถึงสองครั้งสองคราว่า “นี่ไม่ใช่นิยายรัก (love story) แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก (a story about love)” แต่ฉากจบดังกล่าวซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพลังแห่งความรักสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคได้ไม่ว่าจะเป็นความต่างทางชนชั้นหรือแม้กระทั่งโทษประหาร ก็ทำให้ยากที่จะมอง Original Sin เป็นอื่นไปได้นอกจากนิยายรัก
ขณะเดียวกันคริสโตเฟอร์ยังเพิกเฉยต่อ ‘ความเป็นนัวร์’ ของเรื่องราวลงด้วยการลดภาพลักษณ์อันโหดเหี้ยม แข็งกระด้างของบอนนี่ลง แล้วโยนตำแหน่งวายร้ายที่แท้จริงไปให้บิลลี่แทน เขาเป็นตัวละครที่ถูกเพิ่มบทบาทขึ้นมา โดยในหนังฉบับทรุฟโฟต์ซึ่งซื่อสัตย์ต่อตัวนิยายมากกว่านั้นไม่ได้เปิดเผยให้เห็นตัวละครชายผู้สมรู้ร่วมคิดกับบอนนี่ในการฆ่าจูเลีย รัสเซลล์ เราทราบจากเพียงคำบอกเล่าของบอนนี่ในเวลาต่อมาเท่านั้นว่าสุดท้ายแล้วเขาเป็นผู้ได้เงินทั้งหมดของหลุยส์ไปครอง ส่วนวอลเตอร์ ดาวน์สนั้นเป็นนักสืบจริงๆที่เข้ามาทำคดีการหายตัวไปอย่างลึกลับของจูเลีย ซึ่งต่อมาก็ถูกหลุยส์ฆ่าตายเนื่องจากเขาต้องการปกป้องบอนนี่ไม่ให้ถูกจับไปดำเนินคดี ผลจากการหักมุมด้วยการรวมเอาสองตัวละครดังกล่าวมารวมเข้าไว้ด้วยกัน (บิลลี่ปลอมตัวเป็นนับสืบ) ทำให้บอนนี่ดูบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น จริงอยู่เธอยังคงเป็นนักต้มตุ๋นเลือดเย็น แต่ขณะเดียวกันหนังก็บีบบังคับให้เธอตกอยู่ในฐานะเหยื่อซาดิสท์ของบิลลี่ไปพร้อมๆกันด้วย
คนทั้งสองเติบโตดิ้นรนมาในบ้านเด็กกำพร้า เขาเป็นชายคนแรกของเธอและดูเหมือนจะพยายามใช้พลังทางเพศข่มเหงเธออยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองมีลักษณะ sado-masochist ผสมผสานอยู่เป็นนัยยะโดยคนหนึ่งพึงพอใจจากการเป็นผู้กระทำ ส่วนอีกคนชื่นชอบการตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำ (master/slave relationship) ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมที่บิลลี่ใช้มีดกรีดบนหลังของบอนนี่ รอยฟกช้ำอื่นๆ หรือการพ่นน้ำลายใส่ปากเธอก่อนจะบังคับให้เธอกลับบ้านไปวางยาหลุยส์
ความหมายแฝงข้างต้นถือเป็นการปรับเปลี่ยนอันชาญฉลาดของคริสโตเฟอร์ในการสะท้อนบุคลิกทำร้ายตัวเองในแนวทาง masochism ของหลุยส์จากเรื่องราวต้นฉบับให้ออกมาเป็นรูปธรรม โดยหลังจากถูกหลอกเอาเงินจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ชายหนุ่มก็ยังไม่วายเดินตามแรงปรารถนาอันตรายที่เขามีต่อบอนนี่อย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายต้องกลายเป็นฆาตกร (หรืออย่างน้อยเขาก็คิดว่าเขาเพิ่งฆ่านักสืบตายไปคนหนึ่ง) และโดนวางยาในเวลาต่อมา การตีความดังกล่าวยังช่วยเชื่อมโยงหลุยส์กับบอนนี่ให้ใกล้เคียง กันขึ้นในฐานะผู้ถูกกระทำ หรือเหยื่อแห่งกิเลสตัณหา ดังจะเห็นได้จากฉากหนึ่งตอนที่บิลลี่ (ในมาดนับสืบ) เดินเข้ามาในบ้านของหลุยส์เพื่อตามหาบอนนี่ ก่อนจะเริ่มลงมือใช้กำลัง ข่มขู่ จนกระทั่งถึงแก่จูบหลุยส์เข้าที่ปาก ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ผู้ชมไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น กระนั้นจูบดังกล่าวไม่ได้จงใจแสดงนัยยะรักร่วมเพศใดๆ แท้จริงแล้วมันถูกนำเสนอในเชิงบทลงโทษ หรือ ‘การทำร้าย’ กันเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะสำหรับผู้ชายปกติแล้ว จะมีอะไรน่าอับอาย น่าเจ็บใจเท่าการถูกผู้ชายอีกคนจูบที่ปากเล่า? จากนั้นอีกไม่นานต่อมา (หลังจากบอนนี่บอกให้สามีไปซื้อตั๋วรถไฟ ส่วนเธอจะจัดการกับศพเอง) เราก็จะได้เห็นบิลลี่กระทำย่ำยีบอนนี่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน
สำหรับผู้กำกับ ไมเคิล คริสโตเฟอร์ แล้ว ความน่าสะพรึงกลัวที่คอยข่มขู่ตัวเอกของเขาไม่ใช่โลกมืด (noir world) ความรุนแรง ฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งความตาย แต่เป็นความมัวเมาในรัก โดยอารมณ์ลุ่มหลง แรงปรารถนาที่ปราศจากการประนีประนอม และพิษไข้แห่งรักต่อผู้หญิงที่หลอกลวงเอาเงินของเขาก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับได้ชักนำให้ตัวเอกเดินลงสู่หุบเหวแห่งการทำลายตัวเองซึ่งไม่มีวันสิ้นสุด หนทางหลบหนีจากความเจ็บปวดนี้เพียงอย่างเดียวคือ การปฏิเสธความรักดังกล่าวเสีย แต่สุดท้ายเขากลับตัดสินใจวิ่งเข้าหามันราวกับกำลังได้รับความสุขจากการทนทุกข์ทรมาน
หนังเปิดตัวหลุยส์ในมาดชายหนุ่มผู้ไม่ใส่ใจความรักและต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่แข็งแรงเพียงพอจะมีลูกให้เขาได้เท่านั้น แต่ครั้นเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติของมันเป็นครั้งแรก เขากลับลุ่มหลงจนกระทั่งพยายามไล่ล่าหามันโดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียอะไรไปบ้าง ตรงกันข้าม บอนนี่ผู้ไม่เคยสัมผัสความรักมาก่อนเช่นกันกลับวิ่งหนีมันเรื่อยมาแม้เมื่อได้ค้นพบรักแท้ เพราะเธอกลัวที่จะถูกเปิดเผยด้านมืดภายในและมั่นใจว่าตนเองไม่มีคุณค่าพอสำหรับความงดงามเช่นนั้น ความขัดแย้งระหว่างคนหนึ่งซึ่งวิ่งเข้าหาส่วนอีกคนกลับตั้งหน้าตั้งตาวิ่งหนีออกห่างคือ หนึ่งในเสน่ห์หลักของ Waltz Into Darkness และ Mississippi Mermaid ซึ่งผกผันจากพล็อตในแนวลึกลับตื่นเต้นช่วงต้นเรื่อง ไปสู่บทวิเคราะห์ตัวละคร ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนถึงงานวิพากษ์ความรักในตอนท้าย หลังจากบทนักสืบถูกฆ่าตายช่วงกลางเรื่อง ประเด็นสำคัญของหนัง/หนังสือก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าหลุยส์กับบอนนี่ (ซึ่งตอนนี้ต่างก็กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมไปแล้วทั้งคู่) จะถูกจับได้หรือไม่อีกต่อไป แต่อยู่ที่ว่าพวกเขาจะสามารถทำความเข้าใจกันได้หรือเปล่าต่างหาก อารมณ์ดังกล่าวเกี่ยวกับการที่เริ่มต้นอย่างหนึ่งแล้วไปจบลงตรงอีกจุดที่คนดูคาดไม่ถึงถูกทรุฟโฟต์ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากหนึ่งของ Mississippi Mermaid เมื่อสองตัวเอกเดินเข้าไปดูหนังเรื่อง Johnny Guitar แล้วกลับพบว่ามันไม่ได้เป็นหนังคาวบอยประเภทยิงกันสนั่นเมืองดังคาด แต่กลับกลายเป็นหนังเกี่ยวกับ ‘ความรู้สึก’ มากกว่า
Original Sin พยายามลดความแรงของจุดหักเหดังกล่าวให้น้อยลงด้วยการเชื่อมต่ออารมณ์ลึกลับ ตื่นเต้นมายังครึ่งเรื่องท้ายผ่านการหักมุมสองสามครั้ง ตัดทอนบทวิเคราะห์ตัวละครในเชิงลึกออก และทรยศต่อโทนหม่นเศร้าของหนังสือ แต่กระนั้นหนังก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อสารัตถะเดิมอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับการเปิดแขนต้อนรับความรักแม้มันอาจจะอันตราย รุนแรง และนำมาซึ่งการแปดเปื้อนเพียงใด โดยเขายังได้เพิ่มแง่มุมด้านศาสนาเข้ามาเปรียบเทียบอย่างแนบเนียนอีกด้วยผ่านรายละเอียดของการสารภาพบาประหว่างบาทหลวง (มาริโอ อีวาน มาร์ติเนซ) กับบอนนี่ผู้กำลังรอรับโทษประหารอยู่ในคุกและการเปลี่ยนชื่อหนังมาเป็น Original Sin ซึ่งถือเป็นหลักความเชื่อพื้นฐานของศาสนาคริสต์ ระบุว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีบาปหรือด้านชั่วร้ายติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดนับจากวันที่อดัมฝืนคำสั่งพระเจ้าด้วยการกินผลไม้ต้องห้าม ความเชื่อดังกล่าวนี้เองนำไปสู่การไถ่ถอนบาปให้มวลมนุษย์ของพระเยซูด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขน
คริสโตเฟอร์เชื่อว่าเรื่องราวของหลุยส์กับบอนนี่ก็ไม่ต่างจากอดัมกับอีฟ คู่รักผู้ไม่มีความสุข ผู้แปดเปื้อน บิดเบี้ยวจากกิเลสตัณหาและด้านมืด จนกระทั่งถูกสาปให้ต้องเวียนว่ายอยู่ในโลกอันสับสน มืดหม่น น่าหวาดระแวงที่พวกเขาไม่เข้าใจและปราศจากแรงควบคุมใดๆ การเอาตัวรอดในโลกอันมืดมิด (noir world หรือในที่นี้ความสยดสยองแห่งรัก) จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคุณยอมสยบต่อชะตากรรมแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นั้น ยอมรับว่าแต่ละคนล้วนมีด้านมืดด้านสว่าง ความดีความชั่วผสมผสานอยู่ในตัว และยอมศิโรราบต่อพลังไม่แน่นอนอันยากจะเข้าใจ ยากจะควบคุมของมัน เหมือนดังที่อดัม/หลุยส์ยอมกัดแอปเปิ้ล/ดื่มกาแฟผสมยาพิษเพื่อพิสูจน์ความรักต่ออีฟ/บอนนี่ ณ เวลานั้นความตายหาใช่เรื่องยิ่งใหญ่อีกต่อไปเพราะความสุขใจที่ได้คืนมานั้นมันช่างมากล้นจนเกินคุ้ม
กด LIKE ให้กำลังใจบ้างนะครับ